จะรู้ได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ช่วยเดินชิ้นไหนเหมาะสำหรับเรา

          การเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น  มีข้อควรพิจารณาอยู่หลายอย่าง ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ก็คือเรื่องความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้ป่วยและผู้สูงอายุ เราควรเลือกอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตนเองได้เต็มความสามารถ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความสะดวกและปลอดภัยด้วย อุปกรณ์ช่วยเดินในปัจจุบันก็มีมากมายหลากหลายฟังก์ชั่นการใช้งาน หลายคนเกิดคำถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าอุปกรณ์ช่วยเดินชิ้นไหนเหมาะสำหรับเรา วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์ช่วยเดินประเภทต่างๆ และการเลือกซื้อให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา

อุปกรณ์ช่วยเดินและประเภทการใช้งาน

ไม้เท้า  (Cane)

ไม้เท้า (Cane/Walker Stick) เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ออกแบบสำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัว ไม่ถึงกับเดินไม่ได้ เพียงแต่เคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวไม่สะดวกเพราะกรรบาดเจ็บชั่วคราวหรือใช้ในการพยุงตัวให้เดินมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม้เท้าจะช่วยรับน้ำหนักตัวได้ประมาณ20-25% ของน้ำหนักตัว จึงเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสำหรับการใช้งานสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการทรงตัว หรือบาดเจ็บชั่วคราว ขาพลิกขาแพลง ไม่เหมาะกับผู้ป่วยกระดูกหักที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ช่วยรับน้ำหนักมากกว่า ทั้งนี้ไม้เท้ามีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ทั้งไม้เท้าแบบขาเดียวรูปตัว T (T one-point cane) ซึ่งเป็นไม้เท้าทั่วไปที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ ช่วยประคองการเดิน  ไม้เท้าแบบ 3 หรือ 4 ขา (tripod หรือ quad cane) ซึ่งเป็นไม้เท้าที่มีขาตั้งแยกเป็นฐานรับน้ำหนักกว้างขึ้น  ทำให้เกิดความมั่นคงมากยิ่งขึ้นในการรับน้ำหนัก

ไม้ค้ำยัน (Crutches)

ไม้ค้ำยัน   เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ออกแบบมาให้รับน้ำหนักผู้ป่วยได้มากถึง 80% ของน้ำหนักตัว รูปแบบการใช้งานเป็นการใช้ไม้ค้ำยันบริเวณรักแร้ เพื่อพยุงตัวให้ส่วนของไม้ค้ำยันทำหน้าที่แทนขาของผู้ป่วย ทั้งนี้การใช้ไม้ค้ำยันผู้ป่วยต้องใช้ใช้พลังงานในการเดินมากพอสมควร จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่มีปัญหาการทรงตัวเช่น ผู้ป่วยที่ขาหัก ถูกตัดขา รอการใส่ขาเทียม หรือผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนชนิดไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ไม้ค้ำยันรักแร้อาจจะไม่เหาะสำหรับผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือไม่มีพลังแรงงานเพียงพอในการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง

เครื่องช่วยเดิน 4 ขา ยกได้ (Walker)

สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการทรงตัว จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ช่วยเดินที่รับน้ำหนักได้ดีกว่าไม้เท้า แต่ไม่สามารถใช้ไม้ค้ำยันได้เนื่องจากมีแรงกำลังไม่เพียงพอ อุปกรณ์ช่วยเดิน แบบ 4 ขา ยกได้ หรือ  Walker ถือเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มั่นคงมากที่สุด เพราะใช้งานได้ง่ายกว่าไม้ค้ำยัน มั่นคงและรับน้ำหนักได้ดีกว่าไม้เท้า เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ข้อสะโพกเสื่อมผู้ ป่วยอัมพาตครึ่งซีก หรือโรครูมาตอยด์  ทั้งนี้ ปัจจุบันอุปกรณ์ช่วยเดินแบบ 4 ขา มีทั้งแบบธรรมดาที่นิยมเรียกว่า Walker และแบบมีล้อ  (Wheeled walker/Rollator) ซึ่งช่วยให้เคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น ข้อจำกัดของ Walker ก็คือมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เทอะทะ อาจจะไม่สะดวกเมื่อใช้ในพื้นที่แคบ

รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair)

รถเข็น wheelchair  หรือที่เรียกกันว่าเก้าอี้ล้อเข็น เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวด้วยตนเองไม่ได้ เหมาะกับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินเองได้ หรือเดินเองได้แต่ไม่สะดวกในการเดินทางไกล จำเป็นต้องใช้รถเข็นช่วยเพื่อให้การเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รถเข็น wheelchair  มีทั้งแบบ manual wheelchair ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้กำลังแรงแขนของตนเองในการบังคับการเคลื่อนไหวของรถ และแบบรถเข็นไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ในการควบคุม

จะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ช่วยเดินในรูปแบบต่างๆ นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่แตกต่างกัน การพิจารณาเลือกอุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสมจึงต้องเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะกับปัญหาหรืออาการความเจ็บป่วย เลือกให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งาน ความสามารถทางการเงินและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและมีความสุขมากยิ่งขึ้น